วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)


สมเด็จพระพุฒาจารย์
(โต พฺรหฺมรํสี)
สมเด็จโต, หลวงปู่โต, สมเด็จวัดระฆัง


เกิด 17 เมษายน พ.ศ. 2331
บรรพชา พ.ศ. 2343
อุปสมบท พ.ศ. 2351
มรณภาพ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415
พรรษา 64
อายุ 84
วัด วัดระฆังโฆสิตาราม
จังหวัด ธนบุรี
สังกัด มหานิกาย
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

ประวัติ

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (นามเดิม: โต) หรือนามที่นิยมเรียก "สมเด็จโต" "หลวงปู่โต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" เป็นพระสงฆ์มหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนและนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทยและมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ที่บ้านท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายสำนวน เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร1 หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) 2 เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง3

    สำหรับบิดาของท่านนั้น สำนวนของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็น เจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในสำนวนของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองสำนวนกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป
 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

บรรพชาและอุปสมบท

    เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จีงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระภิกษุโตรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

จริยาวัตร

    ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณและเกียรติคุณของพระภิกษุโต แต่พระภิกษุโตไม่ยอมรับ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าท่านมีอุปนิสัยไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใดๆ ทั้งสิ้น อนึ่ง แม้พระภิกษุโตได้ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวข้างต้น ท่านจึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระภิกษุชั้นเปรียญเช่นกัน

    ต่อมากล่าวกันว่า พระภิกษุโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระภิกษุโตอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของพระภิกษุโต ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน




สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

สมณศักดิ์

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดปรานพระภิกษุโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายพระภิกษุโตเป็นครั้งแรก โดยมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระภิกษุโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ในราชทินนาม "พระเทพกวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม "สมเด็จพระพุฒาจารย์" มีนามจารึกตามสุพรรณบัฏว่า

"สมเด็จพระพุฒาจารย์ เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ"

    สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า "ขรัวโต"

ปัจฉิมวัย

    ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี
 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)


คำสอน

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือนอกจากด้านคาถาอาคมแล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ การแสดงออกของท่านตามบันทึกหลักฐานในสมัยหลัง มักบันทึกถึงความเป็นพระเถระผู้มีเมตตา ดำรงศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เอกสารที่บันทึกประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ชั้นเก่าสุด คือเอกสารฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา (สอน โลหนันท์) ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ที่รวบรวมขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ไม่ได้บันทึกคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ เพียงแต่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ต่างกรรมต่างวาระกัน ตามที่ผู้รวบรวมได้บันทึกมาจากปากคำผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้ปรากฏมีคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่แน่ชัด เช่น

"บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ..."

"ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว...เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว...แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า...หมั่นสร้างบารมีไว้...แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นเมื่อถึงเวลา... ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่...จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า"
 
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)


รูปเหมือนของสมเด็จโต

    เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระมหาเกจิเถราจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือยิ่งนับแต่เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จนถึงปัจจุบันผู้ศรัทธาในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ทำการสร้างรูปเหมือน รูปเคารพจำลองของท่านไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย โดยเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "รูปหล่อสมเด็จ" ตามหลักฐานฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) ระบุว่ารูปจำลองรูปแรกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) คือรูปหล่อที่ประดิษฐานที่วัดเกศไชโยวรวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปั้นหุ่นลงรักปิดทองโดยหลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมาประกร) หน้าตัก 40.2 เซนติเมตร หล่อขึ้นที่วัดระฆังโฆสิตาราม แต่ได้หล่อเมื่อปีใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 2444 ดังความในสำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444 ดังนี้

เมืองสิงหบุรี
วันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๐
ถึงกรมหลวงเทวะวงษวโรปการ

"......เวลาเช้า ๒ โมงออกจากพลับพลาเมืองอ่างทอง มาจนเวลา ๕ โมงเช้าถึงวัดไชโย ได้แวะขึ้นที่วัด...ในมุขหลังพระอุโบสถรูปสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต มีเค้าจำได้ แต่หนุ่มไปกว่าเมื่อเวลาถึงมรณภาพสักหน่อยหนึ่ง..."
— พระราชหัตถเลขา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พุทธศักราช ๒๔๔๔

    อย่างไรก็ดี รูปเคารพท่านที่เป็นที่แพร่หลายคือรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่สร้างขึ้นและประดิษฐานอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นไม่นานหลังจากได้สร้างรูปเคารพรูปแรกขึ้นและนำไปประดิษฐานที่วัดไชโยวรวิหาร ก่อนปี พ.ศ. 2444 มีขนาดหน้าตัก 48 เซนติเมตร ลักษณะนั่งสมาธิ โดยเคยมีงานแห่สมโภชรูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในวัน แรม 3 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี แต่ปัจจุบันได้เลิกจัดไปแล้ว ปัจจุบันรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ของวัดระฆังโฆสิตาราม ยังคงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหน้าพระอุโบสถของวัด มีผู้คนเคารพนับถือมากราบไหว้สักการะมากในปัจจุบัน

    ในช่วงหลัง มีผู้นำรูปถ่ายเมื่อครั้งมีชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ในท่านับลูกประคำ ไปจัดสร้างเป็นรูปหล่อและรูปเหมือนเพื่อสักการะบูชา จนเป็นที่แพร่หลาย และเป็นเอกลักษณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) จนถึงปัจจุบัน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่โตมากมาย เพื่อให้สมชื่อโต ของสมเด็จท่าน โดยรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขนาดใหญ่ เช่นที่ วิหารสมเด็จโต มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา สมเด็จโตองค์ใหญ่ปางเทศนาธรรม วัดโบสถ์ จังหวัดปทุมธานี สมเด็จโตองค์ใหญ่ วัดตาลเจ็ดยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่วัดสามัคคีบรรพต จังหวัดชลบุรี เป็นต้น


 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประวัติหลวงปู่ทวด

ประวัติหลวงพ่อทวด หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้
"เรื่องหลวงพ่อทวด"



หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้



          เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วหัวเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทยเล่าลือกันมาว่า ทุกๆ สมัย  เกิดมีพระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จ ๔ องค์ด้วยกัน  คือ
 ๑. สมเด็จเจ้าเกาะยอ
 ๒. สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่
 ๓. สมเด็จเจ้าจอมทอง
 ๔. สมเด็จเจ้าพะโคะ


           แต่ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะตำนานสมเด็จเจ้าพะโคะโดยตรง  ตามตำนานกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะองค์นี้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระราชมุณีสามีรามคุณูปมาจารย์"จากสมเด็จพระมหาธรรมราชาสมัยพระองค์ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะ  ชาตะ วันศุกร์  เดือน  ๔  ปีมะโรง  ตรงกับ  พ.ศ.  ๒๑๒๕  บิดาชื่อตาหู  มารดาชื่อนางจันทร์  มีอายุมากแล้วจึงคลอดบุตรเป็นชายชื่อเจ้าปู่  และได้คลอดบุตรคนนี้ที่บ้านสวนจันทร์  ตำบลชุมพล  เมืองจะทิ้งพระ (อำเภอสะทิ้งพระ  จังหวัดสงขลา ในเวลานี้)


            ตาหู  นางจันทร์ เป็นคนยากจนได้อาศัยอยู่กับคหบดีผู้หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏนาม สองสามีภรรยาเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมเมื่อนางจันทร์ออกจากการอยู่ไฟเนื่องจากการคลอดบุตรแล้ว วันหนึ่งนางจันทร์ได้อุ้มลูกน้อยพร้อมด้วยสามีออกไปทุ่งนา  เพื่อช่วยเก็บข้าวให้แก่เจ้าของบ้านที่พลอยอาศัย  ครั้นถึงทุ่งนาได้เอาผ้าผูกกับต้นเหม้าและต้นหว้า  ซึ่งขึ้นอยู่ใกล้กันให้ลูกนอน  แล้วพากันลงนาเก็บเกี่ยวข้าวต่อไป  ขณะที่สองผัวเมียกำลังเก็บเกี่ยวข้าวอยู่นั้น นางจันทร์ได้เป็นห่วงลูกและได้เหลียวมามองที่เปล  ปรากฎว่ามีงูบองตัวโตกว่าปกติได้ขดตัวรวบรัดเปลที่เจ้าปู่นอน  สองสามีภรรยาตกใจร้องหวีดโวยวายขึ้นเพื่อนชาวนาที่เกี่ยวข้าวอยู่ใกล้เคียงก็รีบพากันวิ่งมาดู  แต่ก็ไม่มีใครจะสามารถช่วยอะไรได้งูใหญ่ตัวนั้นเห็นคนเข้าใกล้ก็ชูศรีษะสูงขึ้น  ส่งเสียงขู่คำรามดังอย่างน่ากลัวจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้เปลนั้นเลย


             ฝ่ายนายหูนางจันทร์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลยืนนิ่งพินิจพิจารณาอยู่  ปรากฏว่างูใหญ่ตัวนั้นมิได้ทำอันตรายแก่บุตรน้อยของตนเลยจึงเกิดความสงสัยว่างูบองใหญ่ตัวนี้น่าจะเกิดจากเทพนิมิตรบันดาล  คิดดังนั้นแล้วก็พากันหาดอกไม้และเก็บรวงข้าวเผาเป็นข้าวตอกนำมาบูชาและกราบไหว้งูใหญ่พร้อมด้วยกล่าวคำสัตย์อธิษฐานขอให้ลูกน้อยปลอดภัย  ในชั่วครู่นั้นงูใหญ่ก็คลายขนดลำตัวออกจากเปลอันตรธานหายไปทันที  นายหูนางจันทร์และเพื่อนพากันเข้าไปดูทารกที่เปลปรากฏว่าเจ้าปู่ยังนอนหลับเป็นปกติอยู่ แต่มีแก้วดวงหนึ่งวางอยู่ที่คอในที่ลุ่มใต้ลูกกระเดือกแก้วดวงนั้นมีสีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสีสองสามีภรรยาจึงเก็บรักษาไว้ คหบดีเจ้าของบ้านทราบความจึงขอแก้วดวงนั้นไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตาหูนางจันทร์ก็จำใจมอบให้คหบดีผู้นั้นเมื่อได้แก้วพยางูมาไว้เป็นสมบัติของตนแล้วต่อมาไม่นานก็เกิดวิปริตให้ความเจ็บไข้ได้ทุกข์แก่คหบดีจนไม่มีทางแก้ไขได้ จนถึงที่สุดคหบดีเจ้าบ้านจึงคิดว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้คงเป็นเพราะยึดดวงแก้วพยางูนั้นไว้จึงให้โทษและเกรงเหตุร้ายจะลุกลามยิ่ง ๆ ขึ้น จึงตัดสินใจคืนแก้วดวงนั้นให้สองสามีภรรยากลับคืนไป ต่อมาภายในบ้านและครอบครัวของคหบดีผู้นั้นก็ได้อยู่เย็นเป็นสุขตามปกติ ขณะที่นายหูนางจันทร์ได้ครอบครองแก้ววิเศษอยู่นั้นปรากฏว่าเจ้าของบ้านก็มีความเมตตาสงสารไม่ใช้งานหนัก การทำมาหาเลี้ยงชีพก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา

           เมื่อกาลล่วงมานานจนเจ้าปู่อายุ ๗ ปี บิดามารดาได้นำไปถวายสมภารจวงให้เรียนหนังสือ  ณ  วัดดีหลวง  เด็กชายปู่ศึกษาเล่าเรียนมีความเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าเพื่อนคนใด ๆ เมื่อเด็กชายปู่มีอายุ  ๑๕  ปี  สมภารจวงผู้เป็นอาจารย์ได้บวชให้เป็นสามเณร  ต่อมาท่านอาจารย์ได้นำไปฝากท่ารพระครูสัทธรรมรังสีให้เรียนหนังสือมูลกัจจายน์ ณ วัดสีหยัง (วัดสีคูยัง  อ.ระโนด เวลานี้)


           สามเณรปู่เรียนมูลกัจจายน์อยู่กับท่านพระครูสัทธรรมรังสี ซึ่งคณะสงฆ์ส่งท่านมาจากกรุงศรีอยุธยาให้เป็นครูสอนวิชามูล ฯ ทางหัวเมืองฝ่ายใต้  ในสมัยนั้นมีพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนกันมากสามเณรปู่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดส่อนิสัยปราชญ์มาแต่กำเนิด  ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชามูล ฯ อยู่ไม่นานก็สำเร็จเป็นที่ชื่นชมของอาจารย์เป็นอย่างมาก  เมื่อสามเณรปู่เรียนจบวิชามูล ฯ แล้วได้กราบลาพระอาจารย์ไปเรียนต่อยังสำนักพระครูกาเดิม  ณ  วัดสีเมือง  เมืองนครศรีธรรมราช  เมื่อครบอายุบวชพระครูกาเดิมผู้เป็นอาจารย์จัดการอุปสมบทให้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา ทำญัติอุปสมบทให้ฉายาว่า  "สามีราโม"  ณ  สถานที่คลองแห่งหนึ่งโดยเอาเรือ  ๔  ลำ  มาเทียบขนานเข้าเป็นแพทำญัติ ต่อมาคลองแห่งนั้นมีชื่อเรียกกันว่าคลองท่าแพจนบัดนี้


           พระภิกษุปู่เรียนธรรมอยู่สำนักพระครูกาเดิม  ๓  ปี  ก็เรียนจบชั้นธรรมบทบริบูรณ์พระภิกษุปู่ได้กราบลาพระครูกาเดิมจากวัดสีมาเมืองกลับภูมิลำเนาเดิม  ต่อมาได้ขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ลงเรือที่ท่าเมืองจะทิ้งพระจะไปกรุงศรีอยุธยาพระนครหลวงเพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติมอีกเรือสำเภาใช้ใบแล่นถึงเมืองนครศรีธรรมราช  นายอินทร์เจ้าของเรือได้นิมนต์ขึ้นบกไปนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีชาวเรือเดินทางไกลซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางทางทะเลแล้วพากันลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เรือสำเภาใช้ใบสู่ทะเลหลวงเรียบร้อยตลอดมาเป็นระยะทาง  ๓  วัน  ๓  คืน  วันหนึ่งท้องทะเลฟ้าวิปริตเกิดพายุ ฝนตกมืดฟ้ามัวดินคลื่นคนองเป็นคลั่งเรือจะแล่นต่อไปไม่ได้จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ถึง  ๓  วัน  ๓  คืน  จนพายุสงบเงียบลงเป็นปกติ  แต่เหตุการณืบนเรือสำเภาเกิดความเดือดร้อนมากเรพาะน้ำจืดที่ลำเลียงมาหมดลง  คนเรือไม่มีน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารนายอินทร์เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นหาว่าเป็นเพราะพระภิกษุปู่พลอยอาศัยมาจึงทำให้เกิดเหตุร้ายซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย  ผู้บันดาลโทสะย่อมไม่รู้จักผิดชอบฉันใดนายเรือคนนี้ก็ฉันนั้น  เขาจึงได้ไล่ให้พระภิกษุปู่ลงเรือใช้ให้ลูกเรือนำไปขึ้นฝั่งหมายจะปล่อยให้ท่านไปตามยะถากรรม ขณะที่พระภิกษุปู่ลงนั่งอยู่ในเรือเล็กท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือคนนั้นตักน้ำขึ้นดื่มกินดู  ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงบอกขึ้นไปบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบพวกกะลาสีบนเรือใหญ่จึงพากันตักน้ำทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหาย  พากันอัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มยิ่งนัก ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือจึงได้ดื่มน้ำพิสูจน์ดูปรากฏว่าน้ำทะเลที่จืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียนนอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักน้ำในบริเวณนั้นขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม  นายอินทร์และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านเป็นที่อัศจรรย์เช่นนั้นก็เกิดความหวาดวิตกภัยภิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่านจึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่แล้วพากันการบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำหยาบต่อท่านมาแล้วและถอนสมอใช้ใบแล่นเรือต่อไปเป็นเวลาหลายวันหลายคืนโดยเรียบร้อย



หลวงปูทวด วัดช้างไห้
            ขณะเรือสำเภาถึงกรุงศรีอยุธยาเข้าจอดเทียบท่าเรียบร้อยแล้วนายอินทร์ได้นิมนต์ท่านให้เข้าไปในเมืองแต่ท่านไม่ยอมเข้าเมือง ท่านปรารถนาจะอยู่  ณ  วัดนอกเมืองเพราะเห็นว่าเป็นที่เงียบสงบดีและได้ไปอาศัยอยู่  ณ  วัดราชานุวาส  ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองขณะนั้นพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยา

           ในสมัยนั้นประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีครองราชเป็นเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะได้กรุงศรีอยุธยาไว้ใต้พระบรมเดชานุภาพ แต่พระองค์ไม่มีประสงค์จะก่อสงครามให้เกิดการรบราฆ่าฟันและกันให้ประชาชนข้าแผ่นดินเดือดร้อนจึงมีนโยบายอย่างหนึ่งที่สามารถจะเอาชนะประเทศอื่นโดยการท้าพนัน  พระองค์จึงตรัสสั่งให้พนักงานพระคลังเบิกจ่ายทองคำในท้องพระคลังหลวงมอบให้แก่นายช่างทองไปจัดการหลอมหล่อเป็นตัวอักษรเท่าใบมะขามจำนวน  ๘๔,๐๐๐  เมล็ด  แล้วมอบให้แก่พราหนณ์ผู้เฒ่า  ๗  คน  พร้อมด้วยข้าวของอันมีค่าบรรทุกลงเรือสำเภา  ๗  ลำ  พร้อมด้วยพระราชสาส์นให้แก่พราหมณ์ทั้ง  ๗  นำลงเรือสำเภาใช้ใบแล่นไปยังกรุศรีอยุธยา  เมื่อเรือสำเภาจอดท่ากรุศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว  พราหมณ์ทั้ง  ๗ ได้พากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาและถวายสาส์น


           สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงไทยทรงอ่านพระราชสาส์นความว่า  พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าพระเจ้ากรุงไทยให้ทรงแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำและเรียบเรียงลำดับให้เสร์จภายใน  ๗  วัน  ถ้าแปลแและเรียบเรียงได้ทันกำหนดพระเจ้ากรุงลังกาขอภวายข้าวของอันมีค่าทั้ง  ๗  ลำเรือสำเภาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงไทย  แต่ถ้าพระเจ้ากรุงไทยแปลเรียงเมล็ดทองคำไม่ได้ตามกำหนดให้พระเจ้ากรุงไทยจัดการถวายดอกไม้เงินและทองส่งเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุก ๆ ปีตลอดไป


           เมื่อพระองค์ทรงทราบพระราชสาส์นอันมีข้อความดังนั้น  จึงทรงจัดสั่งนายศรีธนญชัยสังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศให้เข้ามาแปลธรรมในพระมหานครทันกำหนด เมื่อประกาศไปแล้ว  ๖  วัน  ก็ไม่มีใครสามารถแปลเรียบเรียงเมล็ดทองคำนั้นได้ พระองค์ทรงปริวิตกยิ่งนักและในคืนวันนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่ามีพระยาช้างเผือกผู้มาจากทิศตะวันตกขึ้นยืนอยู่บนพระแท่นในพระบรมมหาราชวังได้เปล่งเสียงร้องก้องดังได้ยินไปทั่วทั้งสี่ทิศ  ทรงตกพระทัยตื่นบรรทมในยามนั้นและทรงพระปริวิตกในพระสุบินนิมิตเกรงว่าประเทศชาติจะเสียอธิปไตยและเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพทรงพระวิตกกังวลไม่เป์นอันบรรทมจนรุ่งสาง


           เมื่อได้เสด็จออกยังท้องพระโรงสั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้าโดยด่วนและทรงเล่าสุบินนิมิตให้โหรหลวงทำนายเพื่อจะได้ทรงทราบว่าร้ายดีประการใด  เมื่อโหรหลวงทั้งคณะได้พิจารณาดูยามในพระสุบินนิมิตนั้นละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว  ก็พร้อมกันกราบถวายบังคมทูลว่าตามพระสุบินนิมิตนี้จะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากทิศตะวันตกอาสาเรียงและแปลพระธรรมได้สำเร็จ  พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะยั่งยืนแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสี่ทิศเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็คลายพระปริวิตกลงได้บ้าง


           ด้วยเดชะบุญบันดาลในเช้าวันนั้นบังเอิญศรีธนญชัยไปพบพระภิกษุปู่ที่วัดราชานุวาส  ได้สนทนาปราศรัยกันแล้วก็ทราบว่าท่านมาจากเมืองตะลุง ( พัทลุงเวลานี้ )  เพื่อศึกษาธรรม  ศรีธนญชัยเล่าเรื่องกรุงลังกาท้าพนันให้แปลธรรม  แล้วถามว่าท่านยังจะช่วยแปลได้หรือ  พระภิกษุปู่ตอบว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้  ศรีธนญชัยจึงนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า  ณ  ที่ประชุมสงฆ์  ขณะที่พระภิกษุปู่ถึงประตูหน้าวิหาร  ท่านย่างก้าวขึ้นไปยืนเหยียบบนก้อนหินศิลาแลง  ทันทีนั้นศิลาแลงได้หักออกเป็นสองท่อนด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อเข้าไปในพระวิหารพระทหากษัตริย์ตรัสสั่งพนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันสมควร แต่ก่อนที่ท่านจะเข้านั่งที่แปลพระธรรมนั้นท่านได้แสดงกิริยาอาการเป็นปัญหาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง  ๗  กล่าวคือ  ท่าแรกท่านนอนลงในท่าสีหะไสยาสน์  แล้วลุกขึ้นนั่งทรงกายตรงแล้วกะเถิบไปข้างหน้า  ๕  ที  แล้วลุกขึ้นเดินเข้าไปนั่งในที่อันสมควร  พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง  ๗  เห็นท่านแสดงกิริยาเช่นนั้นเป็นการขบขันก็พากันหัวเราะและพูดว่า  นี่หรือพระภิกษุที่จะแปลธรรมของพระบรมศาสดา อะไรจึงแสดงกิริยาอย่างเด็กไร้เดียงสา พราหมณ์พูดดูหมิ่นท่านหลายครั้ง ท่านจึงหัวเราะ แล้วถามพรามณ์ว่า ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านไม่เคยพบเห็นกิริยาเช่นนี้บ้างหรือ ?  พราหมณ์เฒ่าฉงนใจก็นิ่งอยู่ ต่างนำบาตรใส่เมล็ดทองคำเข้าประเคนท่านทันที



หลวงปูทวด วัดช้างไห้
            เมื่อพระภิกษุปู่รับประเคนบาตรจากมือพราหมณ์มาแล้วท่านก็นั่งสงบจิตอธิษฐานแต่ในใจว่า ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาอันรักษาพระนครตลอดถึงเทวาอารักษ์ศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบัลดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่มาขัดขวางขอให้แปลพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์สำเร็จสมปรารถนาเถิด ครั้นแล้วท่านคว่ำบาตเททองเรี่ยราดลงบนพรมและนั่งคุยกับพราหมณ์ตามปกติ

           ด้วยอำนาจบารมีอภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนาประกอบกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย  เทพยดาทั้งหลายจึงดลบันดาลเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับตัวอักษรโดยเรียบร้อยใน้วลานั้น  ชั่วครู่นั้นท่านก็ได้เหลียวกลับมาลงมือเรียบเรียงและแปลอักษรในเมล็ดทองคำจำนวน  ๘๔,๐๐๐  เมล็ด  เป็นลำดับโดยสะดวกและไม่ติดขัดประการใดเลย  นับว่าโชคชะตาของประเทศชาติยังคงรุ่งเรืองสืบไป


           ขณะที่พระภิกษุปู่เรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้วปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป  ๗  ตัว  คือตัว  สํ  วิ  ทา  ปุ  กะ  ยะ  ปะ  ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์พราหมณ์ทั้ง  ๗  คนยอมจำนน  จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้แก่ท่านโดยดี  ปรากฏว่าพระภิกษุปู่แปลพระไตรปิฎกในเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์  เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้นและทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงปี่พาทย์ประโคมพร้อมเสียงประชาชนโห่ร้องต้อนรับชัยชนะเสียงดังสนั่นหวั่นไหวทั่วพระนครศรีอยุธยาเป็นการฉลองชัย


           สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่งจึงตรัสสั่งถวายราชสมบัติให้พระภิกษุปู่ครอง  ๗  วัน  แต่ท่านไม่ยอมรับโดยไห้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณเพศไม่สมควรที่จะครองราชสมบัติอันผิดกิจของสมณควรประพฤติ  พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าทรงแต่งตั้งให้พระภิกษุปู่ดำรงสมณศักดิ์ ทรงพระราชทานนามว่า  "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์"  ในเวลานั้น

 
           พระภิกษุปู่หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ได้ประจำพรรษาอยู่  ณ  วัดราชานุวาสศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นเวลาหลายปีด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา  กาลนานมาปีหนึ่งในพระมหานครศรีอยุธยาเกิดโรคระบาดขึ้นร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค 


           ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก  ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่งนักสมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มีนิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมาก เพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้และทรงระลึกถึงพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ขึ้นได้จึงตรัสสั่งให้ศรีธนญชัยไปนิมนต์ท่านมาเข้าเฝ้าทรงปรารภในเรื่องทุกข์ร้อนของพลเมืองที่ได้รับทุกข์ยุกเข็ญด้วยโรคระบาดอยู่ในขณะนี้  ท่านจึงทำพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปพรมให้แก่ประชาชนทั่วพระนคร  ปรากฏว่าโรคระบาดได้ทุเลาเหือดหายไปในไม่ช้าประชาชนได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา  ในหลวงทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอันมาก ทรงเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านอย่างยิ่ง วันหนึ่งได้ทรงตรัสปรารภกับท่านว่า ต่อไปนี้หากพระคุณเจ้ามีความปรารถนาสิ่งอันใดขอนิมนต์ให้ทราบความปรารถนานั้น ๆ จะทรงพระราชทานถวาย ขอพระคุณเจ้าอย่าได้เกรงพระทัยเลย


           การล่วงมานานประมาณว่า พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์มีวัยชราแล้ว วันหนึ่งท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงเกรงใจท่านไม่กล้านิมนต์ขอร้องแต่อย่างใด ได้พระราชทานอนุญาตตามความปรารถนาของท่าน  เมื่อพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์กลับภูมิลำเนาเดิมแล้วครั้งนั้ยปรากฏมีหลักฐานว่าไว้ว่าท่านเดินกลับทางบกธุดงค์โปรดสัตว์เรื่อยมาเป็นเวลาช้านาน  จนถึงวัดพระสิงห์บรรพตพะโคะตามแนวทางเดินที่ท่านเดินและพักแรมที่ใดต่อมาภายหลังสถานที่ที่ท่านพักแรมนั้นเกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพบูชามาถึงบัดนี้ คือปรากฏว่าขณะที่ท่านพักแรมอยู่ที่บ้านโกฏิในอำเภอปากพนัง  เมื่อท่านเดินทางจากไปแล้วภายหลังประชาชนยังมีความเคารพเลื่อมใส่ท่านอยู่มากจึงได้ชักชวนกันขุดดินพูนขึ้นเป็นเนินตรงกับที่ท่านพักแรมไว้เป็นที่ระลึก รอบ ๆ เนินดินนั้นจึงเป็นคูน้ำล้อมรอบเนินและสถานที่แห่งนี้ต่อมาก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนถึงบัดนี้


           เมื่อท่านเดินทางมาถึงหัวลำภูใหญ่ในอำเภอหัวไทรในเวลานี้เป็นสถานที่ที่มีหาดทรายขาวสะอาดต้นลำภูแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นเย็นสบาย  ท่านจึงอาศัยพักแรมอยู่ใต้ต้นลำภูนั้น ทำสมาธิวิปัสสนา ประชาชนในถิ่นนั้นได้พร้อมใจกันมากราบไหว้บูชาและฟังท่านแสดงธรรมอันเป็นหลักควรปฏิบัติของพระพุทธศาสนา  ต่อมาประชาชนเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้าจึงพร้อมใจกันสร้างศาลาถวายขึ้นหนึ่งหลังและท่านได้จากสถานที่นี้ไปนี้ต่อมาภายหลังไม่นานศาลาหลังนี้เกิดเป็นศาลาศักดิ์สิทธิ์ประชาชนชาวบ้านถิ่นนั้นและใกล้เคียงจึงชักชวนกันมาทำพิธีสมโภชศาลาศักดิ์สิทธิ์หลังนั้นเป็นการระลึกถึงท่านถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันพิธีชักชวนกันทำขนมโคมาบวงสรวงสมโภชทุกๆ วันพฤหัสฯ  เป็นประจำจนเป็นประเพณีมาจนกระทั่งบัดนี้
 เมื่อท่านจากหัวลำภูใหญ่เดินทางมาถึงบางค้อนท่านได้หยุดพักแรมพอหายเมื่อยล้าแล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ หลังจากที่ท่านจากไปแล้วสถานที่บางค้อนก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปรากฏมาจนบัดนี้



หลวงปูทวด วัดช้างไห้
             พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือพระภิกษุปู่กลับถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ  ครั้งนี้ประชาชนชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่  ประชาชนได้พร้อมใจกันขนานนามท่านขึ้นใหม่เรียกกันว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ต่อมาวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะอันเป็นชื่อเดิมก็ถูกเรียกย่อ ๆ เสียใหม่ว่า "วัดพะโคะ"จนกระทั่งบัดนี้

           ตามตำนานกล่าวไว้ว่า  วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะนี้มีพระอรหันต์  ๓  องค์  เป็นผู้สร้างขึ้น  คือ
 ๑. พระนาไรมุ้ย
 ๒. พระมหาอโนมทัสสี
 ๓. พระธรรมกาวา


 ต่อมาพระมหาอโนมทัสสีได้เดินทางไปประเทศอินเดียอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระบรมศาสลับมา พระยาธรรมรังคัลเจ้าเมือง "จะทิ้งพระ" ในสมัยนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธา จัดการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่สูงถึง  ๒๐  วา  ขึ้นถวายแล้วทำพิธีสมโภชบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในเจดีย์องค์นั้นและคงมีปรากฏอยู่จนบัดนี้


           ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะหรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ได้หยุดพักผ่อนนานพอสมควร ท่านได้ตรวจดูเห็นปูชนียสถานและกุฏิวิหารเก่าแก่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากควรจะบูรณะซ่อมแซมเสียใหม่  ดังนั้นท่านจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาอีกวาระหนึ่ง (ในตำนานมิได้กล่าวไว้ว่าท่านไปทางบกหรือไปทางน้ำ) เมื่อได้สนทนาถามสุขทุกข์กันแล้ว ท่านก็ทูลถวายพระพรพระองค์ตามความปรารถนาที่จะบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดให้พระองค์ทรงทราบ  ครั้นได้ทราบจุดประสงค์ก็ทรงศรัทธาเลื่อมใสร่วมอนุโมทนาด้วย จึงตรัสสั่งให้พระเอกาทศรถพระเจ้าลูกยาเธอ  จัดการเบิกเงินในท้องพระคลังหลวงมอบถวาย และจัดหาศิลาแลงบรรทุกเรือสำเภา  ๗  ลำ  พร้อมด้วยนายช่างหลวงหลายนาย  มอบหมายให้ท่านนำกลับไปดำเนินงานตามความปรารถนาปรากฏว่าท่านได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและปลูกสร้าง (วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ) อยู่หลายปีจึงสำเร็จบริบูรณ์


           สมเด็จพระเจ้าพะโคะ  เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชายังกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่งปรากฏว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสเคารพต่อท่านเป็นยิ่งนัก  ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระทานที่ดินนาถวายแก่ท่านเป็นกัลปนา  ขึ้นแก่วัดพัทสิงห์บรรพตพะโคะ  จำนวน ๙๐ ฟ้อน  พร้อมด้วยประชาราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินนั้น  มีอาณาเขตติดต่อ  โดยถือเอาวัดพัทธสีห์บรรพตพะโคะเป็นศูนย์กลางดังนี้
           ๑.  ทางทิศเหนือ  ตั้งแต่แหลมชุมพุกเข้ามา
           ๒.  ทางทิศใต้  ตั้งแต่แหลมสนเข้ามา
           ๓.  ทางทิศตะวันออก  จดทะเลจีนเข้ามา
           ๔.  ทางทิศตะวันตก  จดทะเลสาบเข้ามา


          ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะกลับจากกรุงศรีอยุธยาได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ


           ครั้งนี้คาดคะเนว่าท่านมีอายุกาลถึง  ๘๐  ปีเศษอยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์ประจำตัว  ไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น  ๓  คด  ชาวบ้านเรียกว่าไม้เท้า  ๓  คด  ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังฝั่งทะเลจีน  และขณะที่ท่านเดินเล่นรับอากาศทะเลอยู่นั้น  ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลี่ยบชายฝั่งมา  พวกโจรสลัดจีนเห็นสมเด็จเดินอยู่  คิดเห็นว่าเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ  พวกโจรจึงแวะเรือเข้าขึ้นฝัง  นำเอาท่านลงเรือไป  เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน  เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น  คือเรือลำนั้นจะแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่  พวกโจรจีนได้พยายามแก้ไขจนหมดความสามารถ  เรือก็ยังไม่เคลื่อนจึงได้จอดเรือนิ่งอยู่  ณ  ที่นั่นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน  ที่สุดน้ำจืดที่ลำเลียงมาบริโภคในเรือก็ได้หมดสิ้นจึงขาดน้ำดื่มและหุงต้มอาหาร  พากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยการกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จท่านสังเกตเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกเรือถึงขั้นที่สุดแล้วท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล  ทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกจีนไปเมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากผิวน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรจีนตักน้ำตรงนั้นขึ้นมาดื่มชิมดู  พวกจีนแม้ไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรสลัดจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้นก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก้พวกเขาต่อไปจึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วพาท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป


           เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะขึ้นจากเรือเดินกลับวัดถึงที่แห่งหนึ่ง ท่านหยุดพักเหนื่อยได้เอาไม้เท้า  ๓  คด พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน  ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้นลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนสภาพจากเดิมกลับคด ๆ  งอ ๆ  แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่า  ต้นยางไม้เท้า ยังมีปรากฏอยู่ถึงเวลานี้



           สมเด็จพะโคะหรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ครองสมณเพศจำพรรษาอยู่วัดพะโคะเป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์    บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนได้ตลอดมา
 ตอนนี้ได้รับความกรุณาจากพระอุปัชฌาย์ดำ  ติสฺสโร สำนักวัดศิลาลอย  อำเภอจะทิ้งพระเป็นผู้เล่าตามนิยายต่อกันมา  โดยท่านพระครูวิริยานุรักษ์  วัดตานีสโมสรเป็นผู้บันทึกความดังต่อไปนี้



พระครูวิสัยโสภณ ทิม
            ในสมัยสมเด็จเจ้าพะโคะพำนักอยู่วัดพะโคะครั้งนั้นยังมีสามเณรน้อยรูปหนึ่งเข้าใจว่าคงอาศัยอยู่วัดใดวัดหนึ่งในท้องที่อำเภอหาดใหญ่เวลานี้  สามเณรรูปนี้ได้บวชมาแต่อายุน้อย ๆ ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมีความขยันหมั่นเพียรก่อแต่การกุศลในพระพุทธศาสนาและตั้งจิตอธิษฐานจะขอพบพระศรีอริยะอย่างแรงกล้า  อยู่มาคืนหนึ่งมีคนแก่ถือดอกไม้เดินเข้ามาหาแล้วประเคนดอกไม้ส่งให้แล้วบอกว่า  นี่เป็นดอกไม้ทิพย์ไม่รู้จักร่วงโรยพร้อยกับกล่าวว่า  พระศรีอริยะโพธิสัตว์นั้นขณะนี้ได้จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนาสามเณรเจ้าจงถือดอกไม้ทิพย์นี้ออกค้นหาเถิดหากผู้ใดรู้จักกำเนิดของดอกไม้แล้วผู้นั้นแหละเป็นพระศรีอริยะที่จุติมา เจ้าจงพยายามเที่ยวค้นหาคงจะพบเมื่อกล่าวจบแล้วคนแก่นั้นก็อันตรธานหายไปทันที

           สมาเณรน้อยมีความปิติยินดีเป็นยิ่งนักวันรุ่งเช้าจึงกราบลาสมภารเจ้าอาวาสถือดอกไม้ทิพย์เดินออกจากวัดไป  สามเณรเดินทางตรากตรำลำบากไปทั่วทุกหนทุกแห่งก็ไม่มีใครทักถามถึงดอกไม้ทิพย์ที่ตนถืออยู่นั้นเลยแต่สามเณรก็พยายามอดทนต่อความเหนื่อยยากต้องตากแดดกรำฝนไปเป็นเวลาช้านาน  วันหนึ่งต่อมาสามเณรน้อยเดินทางเข้าเขตวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะในเวลาใกล้จะมืดค่ำเป็นวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  พระจันทร์เต็มดวงส่องรัศมีจ้าไปทั่วท้องฟ้าและเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ลงทำสังฆกรรมในอุโบสถ สามเณรถือดอกไม้ทิพย์เดินเข้าไปยืนถือดอกไม้ทิพย์อยู่ริมอุโบสถรอคอยพระสงฆ์ที่จะลงมาอุโบสถ พอถึงเวลาพระภิกษุทั้งหลายก็เดินทะยอยกันเข้าอุโบสถผ่านหน้าสามเณรไปจนหมดไม่มีพระภิกษุองค์ใดทักสามเณรเลย  เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งในอุโบสถเรียบร้อยแล้วสามเณรจึงเดินเข้าไปนมัสการถามพระสงฆ์เหล่านั้นว่า  วันนี้พระมาลงอุโบสถหมดแล้วหรือ พระภิกษุตอบว่า ยังมีสมเด็จอยู่อีกองค์วันนี้ไม่มาลงอุโบสถ สามเณรทราบดังนั้นก็กราบลาพระสงฆ์เหล่านั้นเดินออกจากอุโบสถมุ่งตรงไปยังกุฏิของสมเด็จเจ้าฯ ทันที


           ครั้นถึงสามเณรก็คลานเข้าไปใกล้ก้มกราบนมัสการท่านอยู่ตรงหน้าสมเด็จเจ้าฯ  สมเด็จเจ้าฯ ได้ประสพดอกไม้ในมือสามเณรถืออยู่  จึงถามสามเณรว่า  นั่นดอกไม้ทิพย์เป็นดอกไม้เมืองสวรรค์ผู้ใดให้เจ้ามา  สามเณรรู้แจ้งใจตามที่นิมิตจึงคลานเข้าไปก้มลงกราบที่ฝ่าเท้าแล้วประเคนดอกไม้ทิพย์นั้นแก่สมเด็จเจ้าฯ ทันที  เมื่อสมเด็จเจ้าฯ รับประเคนดอกไม้ทิพย์จาดสามเณรน้อยแล้วท่านได้สงบอารมณ์อยู่ชั่วครู่มิได้พูดจาประการใด  แล้วลุกขึ้นเรียกสามเณรเดินตรงเข้าไปในกุฏิปิดประตูลงกลอนและเงียบหายไปในคืนนั้น  มิได้มีร่องรอยแต่อย่างใดเหลือไว้ให้พิสูจน์จนเวลาล่วงเลยมาบัดนี้ประมาณสามร้อยปีเศษแล้ว


           การหายตัวไปของสมเด็จเจ้าพะโคะครั้งนั้นประชาชนเล่าลือกันว่าท่านได้สำเร็จสู่สวรรค์ไปเสียแล้วด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารท่านแรงกล้า  ตามที่กล่าวลือกันเช่นนี้เพราะมีเหตุอัศจรรย์ปรากฏขึ้นในคืนนั้นว่าบนอากาศบริเวณวัดพะโคะ ได้มีดวงไฟโตขนาดเท่าดวงไต้ส่องรัศมีต่าง ๆ เป็นปริมณฑลดังพระจันทร์ทรงกลดลอยวนเวียนรอบบริเวณวัดพะโคะส่องรัศมีจ้าไปทั่วบริเวณวัดเมื่อดวงไฟดวงนั้นลอยวนเวียนอยู่ครบสามรอบแล้วลอยเคลื่อนไปทางทิศอาคเนย์เงียบหายมาจนกระทั่งบัดนี้


           วันรุ่งเช้าประชาชนมาร่วมประชุมกันที่วัดและต่างคนต่างก็เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าฯ ท่านสำเร็จสู่สวรรค์ไปจึงได้พากันพนมมือขึ้นเหนือศรีษะพร้อมกับเปล่งเสียงว่าสมเด็จเจ้าพะโคะโล่ไปเสียแล้วเจ้าข้าเอย  เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะโล่หายไปจากวัดพะโคะครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฯ ท่านได้ทิ้งของสำคัญไว้ให้เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตลอดมาคือ


           ๑. ดวงแก้วที่พระยางูใหญ่ให้ครั้งเป็นทารกอยู่ในเปล  ๑  ดวง  และสมภารทุกๆ องค์ของวัดพะโคะได้  เก็บรักษาไว้จนถึงบัดนี้ปรากฏว่า  แก้วดวงนี้ไม่มีใครกล้านำออกจากบริเวณวัดพะโคะเพราะเกรงจะเกิดภัย


            ๒. ก่อนที่สมเด็จเจ้าฯ จะโล่หายไปปรากฏว่าท่านได้ขึ้นไปทำสมาธิอยู่บนชะง่อนผาภูเขาบาท  ได้เอาเท้าซ้ายเหยียบลงบนลาดผาลึกเป็นรอยเท้าเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนมาจนกระทั่งบัดนี้ (ท่านพระครูวิสัยโสภณวัดช้างให้ได้ไปนมัสการมาแล้ว) 
พระครูวิสัยโสภณ ทิม

            สมัยที่สมเด็จเจ้าพะโคะโล่หายไปจากวัดพะโคะ  ตำบลชุมพล  อำเภอจะทิ้งพระ  จังหวัดสงขลา  ครั้งนั้นได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่เมืองรัฐไทรบุรีเวลานี้พระภิกษุรูปนี้เป็นปราชญ์ทางธรรมและเชี่ยวชาญทางอิทธิอภินิหารเป็นยอดเยี่ยมชาวเมืองไทรบุรีมีความเคารพเลื่อมใสมาก ซึ่งสมัยนั้นคนมลายูในเมืองไทรบุรีนับถือศาสนาพุทธ  ต่อมาท่านก็ได้เป็นสมภารเจ้าวัดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น

           มีเรื่องชวนคิดอยู่ว่า  พระภิกษุชรารูปนี้ไม่มีประชาชนคนใดจะทราบได้ว่า  ท่านชื่ออย่างไร  ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ไหน  ก็ไม่มีใครซักถาม  จึงพากันขนานนาม เรียกกันว่า  " ท่าน  ลังกาองค์ดำ "  ท่านปกครองวัดด้วยอำนาจธรรมและอภินิหารอย่างยอดเยี่ยม  เป็นที่พึ่งทางธรรมปฏิบัติและการเจ็บไข้ได้ทุกข์ของประชาชน  ด้วยความเมตตาธรรม  ประชาชนเพิ่มความเคารพเลื่อมใสท่านตลอดถึงพระยาแก้มดำ  เจ้าเมืองไทรบุรีสมัยนั้น  และท่านมีความสุขตลอดมา  ( ท่านลังกาองค์นี้จะเป็นเจ้าพะโคะใช่หรือไม่  ขอให้อ่านต่อไป )


           เมื่อข้าพเจ้าผู้เขียนยังหนุ่มๆ  หรือประมาณ ๔๕ ปีมาแล้ว  ได้อ่านหนังสือตำนานเมืองปัตตานี  ซึ่งรวบรวมโดยคุณพระศรีบุรีรัฐ  ( สิทธิ์  ณ  สงขลา )  นายอำเภอชั้นลายครามของอำเภอยะหริ่ง  เรียบเรียง  มีข้อความตอนหนึ่งว่าสมัยนั้นพระยาแก้มดำ  เจ้าเมืองไทรบุรีปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิดีสร้างเมืองให้  เจ๊ะสิตีน้องสาวครอบครอง  เมื่อโหรหาฤกษ์ยามดีได้เวลา  ท่านเจ้าเมืองก็เสี่ยงสัตย์อธิฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่าหรือเรียกว่าช้างอุปการ  เพื่อหาที่ชัยภูมิดีสร้างเมือง  ท่านเจ้าเมืองก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน  วันหนึ่งช้างได้เดินไปหยุดอยู่  ณ  ที่ป่าแห่งหนึ่ง  ( ที่วัดช้างให้เวลานี้ )  แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น  ๓  ครั้งพระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีจะสร้างเมือง  ณ  ที่ตรงนี้  แต่น้องสาวตรวจดูแล้วไม่ชอบ  พี่ชายก็อธิฐานให้ช้างดำเนินหาที่ใหม่ต่อไป  ได้เดินรอนแรมหลายวัน  เวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร  น้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น  บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่ง  วิ่งผ่านหน้านางไปนางอยากจะได้กระจงขาวตัวนั้น  จึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ลอมจับกระจงตัวนั้น  ได้วิ่งวกไปเวียนมาบนหาดทรายอันขาวสะอาดริมทะเล  ( ที่ตำบล     กือเซะเวลานี้ )  ทันใดนั้น  กระจงก็ได้อันตรธานหายไป  นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบที่ตรงนี้มาก  จึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้



วัดช้างไห้ ปัตตานี
          เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาว  และมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว  ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่า  เมืองปะตานี  ( ปัตตานี )  ขณะนั้นพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศที่ช้างบอกให้ครั้งแรก  ก็รู้สึกเสียดายสถานที่  จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า  และปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า  วัดช้างให้มาจนบัดนี้  ต่อมาพระยาแก้มดำ  ก็ได้มอบถวายวัดช้างให้แก่ท่านลังกาครอบครองอีกวัดหนึ่ง

            พระภิกษุชราองค์นี้ท่านอยู่เมืองไทรบุรีเขาเรียกว่าท่านลังกาเมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ชาวบ้านเรียกว่าท่านช้างให้เป็นเช่นนี้ตลอดมา  ขณะที่ท่านลังกาพำนักอยู่ที่วัดในเมืองไทรบุรีวันหนึ่งอุบาสก  อุบาสิกา  และลูกศิษย์อยู่พร้อมหน้าท่านได้พูดขึ้นในกลางชุมนุมนั้นว่า ถ้าท่านมรณภาพเมื่อใดขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ  ณ  วัดช้างให้ด้วยและขณะหามศพพักแรมนั้น  ณ  ที่ใดน้ำเน่าไหลลงสู่พื้นดินที่ตรงนั้นจงเอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์  อยู่มาไม่นานท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชราคณะศิษย์ผู้เคารพในตัวท่านก็ได้จัดการตามที่ท่านสั่งโดยพร้อมเพรียงกันเมื่อทำการฌาปณกิจศพท่านเรียบร้อยแล้วคณะศิษย์ผู้ไปส่งได้ขอแบ่งเอาอัฐิของท่านแต่ส่วนน้อยนำกลับไปทำสถูปที่วัด  ณ  เมืองไทรบุรีไว้เป็นที่เคารพบูชาตลอดจนบัดนี้สมเด็จเจ้าพะโคะกับท่านช้างให้หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดนี้สมัยท่านยังมีชีวิตมีชื่อที่ใช้เรียกท่านหลายชื่อเช่น  พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์  ท่านลังกา  และท่านช้างให้  แต่เมื่อท่านมรณภาพแล้วเรียกเขื่อนหรือสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิของท่านว่า  "เขื่อนท่านช้างให้"  แต่ต่อมาปี พ.ศ.  ๒๔๙๗ ได้มีการสร้างพระเครื่องต่างองค์ท่านให้ชื่อว่า  ท่านช้างให้  แต่ท่านไม่เอาท่านบอกให้ชื่อว่า  "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด"  ดังมีเรื่องกล่าวต่อไปนี้


             ๑. ก่อนที่เขื่อนหรือสถูปจะปรากฏความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นครั้งแรก  เล่าต่อๆ กันมาว่ามีเด็กชายลูกชาวบ้านคนหนึ่งพ่อเขาไล่ตี  เด็กคนนั้นวิ่หนีเข้าไปในบริเวณวัดช้างให้แล้หายตัวไปซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง เมื่อพ่อของเด็กไล่ตามเข้าไปในวัดก็มิได้เห็นตัวเด็ก เขาได้ค้นหาจนอ่อนใจก็ไม่พบจึงกลับบ้านชวนเพื่อนบ้านช่วยกันค้นหา  ขณะที่พวกชาวบ้านผ่านเข้าเขตวัดก็เห็นเด็กนั้นเดินยิ้มเข้ามาหาและหัวเราะพูดขึ้นว่า  พ่อของมันดุร้ายไล่ทุบตีลูกไม่มีความสงสารกูเห็นแล้วอดสงสารไม่ได้จึงเอามันไปซ่อนไว้  พวกชาวบ้านก็ตื่นตกงกงันเพราะเด็กนั้นพูดแปลกหูผู้ฟังเป็นเสียงของคนแก่แต่เด็กพูดต่อไปว่า  พวกสูไม่รู้จักกูหรือ กูชื่อท่านเหยียบน้ำทะเลจืดผู้ศักดิ์สิทธิ์เจ้าของเขื่อนนี้ (สถูป)  พวกสูจะลองดีก็จงเอาน้ำเกลือใส่อ่างมากูจะทำให้ดู  มีชาวบ้านผู้หนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งนั้น  เด็กชายนั้นก็ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำเกลือในอ่างทันทีและบอกให้ชาวบ้านชิมน้ำเกลือนั้นดู ได้ประจักษ์ว่าน้ำนั้นมีรสจืดเป็นน้ำบ่อเป็นที่อัศจรรย์นัก  เด็กนั้นพูดอีกว่า  พวกสูยังไม่เชื่อกูก็ให้ก่อไฟขึ้น  ชาวบ้านก็ทำตาม  ขณะกองไฟลุกโชนเป็นถ่านแดงดีแล้วเด็กประทับทรงท่านเหยียบน้ำทะเลจืดก็กระโดดเข้าไปยืนอยู่ในกลางกองไฟอันร้อนแรง  ยิ้มแล้วถามว่าสูเชื่อหรือยัง พ่อของเด็กตกใจเกรงลูกจะเป็นอันตรายจึงก้มลงกราบไหว้ขอโทษเด็กนั้นจึงเดินออกจากกองไฟเป็นปกติ 

            ๒. ครั้นท่านพระครูวิสัยโสภณ (ท่านอาจารย์ทิม   ธมฺมธโร) เข้ามาครองวัดช้างให้ใหม่ๆ ท่านข้องใจเรื่องเขตวัดของเดิมเพราะถามชาวบ้านไม่มีใครรู้ คืนวันหนึ่งท่านฝันว่าพบคนแก่ยืนอยู่กลางลานวัดท่านถามถึงเขตวัดตามความข้องใจ  คนแก่นั้นบอกว่า ให้ไปถามท่านเหยียบน้ำทะเลจืดในเขื่อน  คนแก่จึงนำท่านพระครู ฯ ไปเห็นพระภิกษุเฒ่าเดินออกจากในเขื่อนสามองค์ปรากฏว่า  ๑. หลวงพ่อสี  ๒. หลวงพ่อทอง  ๓. หลวงพ่อจันทร์  องค์หลังสุดถือไม้เท้าใหญ่  ๓  คด  เดินยันออกมางกงันเพราะความชรามากกว่าองค์ใดๆ  คนแก่จึงบอกว่าองค์นี้แหละ  ท่านเหยียบน้ำทะเลจืดท่านจึงเอาแขนกอดคอท่านพระครู ฯ นำเดินชี้เขตวัดเก่าให้ทราบทั้ง  ๔  ทิศ  ตลอดถึงเนินดินซึ่งเป็นโบสถ์โบราณและบันดาลให้ท่านอาจารย์ฯได้เห็นวัตถุต่างๆในหลุมนิมิตซึ่งเป็นของไม่มีค่า  เช่น  พระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน  ๑  องค์  เมื่อจะกลับเข้าไปในเขื่อนท่านได้สั่งว่าต้องการอะไรให้บอกแล้วเข้าในเขื่อนหายไป 



วัดช้างไห้ ปัตตานี
 "คำว่าเอาอะไรให้บอก คำนี้สำคัญมาก คราวต่อมาโบสถ์ก็สำเร็จพระเครื่องก็ศักดิ์สิทธิ์" 





 วัตถุมงคล พระบูชา หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย หนองคาย ร้านโจ้กรุงเก่า  ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี โทร 095-743-2223 เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ Line - joamulet  //  www.facebook.com/joamulet

ชาตรี ย้อนยุค2507 และทุกรุ่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม อยุธยา

ร้านโจ้กรุงเก่า ชั้น1 ห้างบิ๊กซีนวนคร ปทุมธานี รับเช่า บูชา เลส กำไล แหวน หลวงพ่อรวย วัดตะโก  เปิด จันทร์-เสาร์ 09:00 - 17:00 หยุดวันอาทิตย์ โทร 085-321-6456  www.facebook.com/joamulet   Line ID - joamulet